Principal Monthly Report ประจำเดือน สิงหาคม 2567

 

Image
Image

         

          ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง Fed ส่งสัญญาณชัดเจนต่อการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งสหรัฐและไทยปรับลดลงในทำนอง เดียวกัน ในส่วนของตลาดหุ้นแม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มที่จะถูกขายทำกำไร โดยเฉพาะจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่ด้วยผลประกอบการ Q2/2024 ที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed สามารถหนุนตลาดให้ฟื้นตัวได้บ้างในช่วงปลายเดือน ตลาดหุ้นจีนยังคงปรับลดลงจากนโยบายกระตุ้นที่ยังไม่เพียงพอที่จะเรียกความมั่นใจจากผู้บริโภค ตลาดหุ้นเวียดนามสามารถกลับมาปิดบวกได้เล็กน้อยที่ 0.5% แม้ว่าจะมีประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของ นาย เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลเวียดนาม ตลาดอสังหาฯและ REITs ทั่วโลก สิงคโปร์ และไทยปรับขึ้นแรง จากแรงหนุนของ Fed ที่ชัดเจนต่อการลดอกเบี้ยมากขึ้น โดยอาจปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 – 3 ครั้งในปีนี้ และสุดท้ายทองคำปรับขึ้นแรง ที่ 5.2% ในเดือนก.ค. จาก Dollar Index ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง สะท้อนการลดดอกเบี้ยของ Fed แล้วความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาตร์ 

           ตราสารหนี้: อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐฯ ทุกช่วงอายุปรับลดลงจากเดือนมิ.ย. โดย Bond yield ที่มีอายุ 2 ปีปรับลด -0.50% มากกว่า Bond yield ที่มีอายุ 10 ปีที่ปรับลดเพียง -0.37% สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตในระยะยาวได้ดีขึ้นหลังจากผลการประชุม FOMC มีมติที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25% -5.50% เช่นเดิม ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่ามีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 2.97% เทียบกับปีก่อน (YoY) ลดลงสู่ระดับ 2% ที่ตั้งเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การปรับลงของ Bond yield นี้ทำให้ตราสารหนี้ทั่วโลกมีผลงานที่ดีมากขึ้นทั้งกลุ่ม Investment Grade และ High-Yield สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย 2 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงบ้างเล็กน้อยสอดคล้องกับฝั่งของสหรัฐฯ

          ตลาดหุ้นสหรัฐฯ: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. เกิดการปรับฐานในช่วงกลางเดือน โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ ที่สะท้อนภาพรวมหุ้นเทคโนโลยีปรับตัวลงถึง -9% จากแรงเทขายทำกำไรที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลของผลประกอบการไตรมาส 2/2024 ที่ 2 ใน 7 หุ้นกลุ่ม Magnificent Seven (M7) ได้แก่ Tesla ที่กำไรและอัตรากำไรขั้นต้นแย่กว่าคาด และ Alphabet บริษัทแม่ Google ที่แม้ทั้งรายได้และกำไรดีกว่าคาด แต่ธุรกิจโฆษณาเติบโตชะลอลง และยังต้องใช้เงินลงทุนสูงในธุรกิจ cloud และ AI แต่ยังไม่มีความชัดเจนในด้านกำไรที่จะได้รับ  ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น เพียง 0.1% และ 3.3% เมื่อเทียบรายเดือนและรายปี ตามลำดับ ต่ำกว่าคาดการณ์ ประกอบกับ ตัวเลขแรงงานที่เห็นสัญญาณชะลอตัวลง พร้อมทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมองว่ามีโอกาสเกือบ 90% ที่ Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับบริษัทต่าง ๆ ทำให้ผลตอบแทนตลาดหุ้น S&P500 เดือนก.ค. ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับเดือนที่แล้วได้

         ตลาดหุ้นยุโรป: ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวระยะสั้น หลังจากคลายความกังวลทางด้านการเมืองของฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ได้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือน ก.ค. โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ASML และ BE Semiconductor Industries ที่ได้รับแรงกดดันหลังจากที่มีข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะใช้ข้อจำกัดทางการค้าที่รุนแรงที่สุดในการสกัดกั้นจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิป ทั้งนี้ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.75% ตามคาดการณ์ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปในการประชุมครั้งที่แล้ว โดยส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

        ตลาดหุ้นเกาหลีใต้: ดัชนี KOSPI index ปรับตัวลง -0.97% ในเดือน ก.ค. ตามการปรับตัวลงของกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะ SK Hynix ที่ปรับตัวลงแรงกว่า 17% ในเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเกาหลีในภาพรวมยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากภาคการส่งออกของเกาหลียังคงโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการชิปเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากกระแส AI อีกทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มิ.ย. ยืนเหนือระดับ 50 จุด ต่อเนื่องในเดือนที่ 2 ดังนั้น เราจึงมีมุมมองเชิงบวกกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ในระยะยาว จากปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงแข็งแกร่ง Valuation ที่อยู่ในระดับไม่แพง และ กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโต 48.23% และ 27.29% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

          ตลาดหุ้นจีน: ตลาดหุ้นจีนยังปรับลดลงต่อเนื่องทั้ง A-shares ในประเทศจีน และ H-Shares ในประเทศฮ่องกง โดยปรับลด -0.57% และ -3.55% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวหลังการปรับลดดอกเบี้ย และการออกมาตรกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังอาจไม่เพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่ผลการประชุม Third Plenum ก็ไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพิเศษที่จะช่วยหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นได้ 

Image

     

        ตลาดหุ้นอินเดีย: ดัชนี Nifty50 ปรับขึ้น 3.92% ถึงแม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้นอินเดียจำนวนมากในช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาหลังกระทรวงการคลังอินเดียประกาศเพิ่มอัตราภาษีส่วนต่างราคา (Capital gain tax) จากตลาดทุนเพื่อลดการเก็งกำไร อย่างไรก็ตามนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันยังมีมุมมองบวกจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นมาต่อเนื่องได้ หลัง GDP ไตรมาส 1/2567 ออกมาสูงโดยปรับขึ้นจากปีก่อนถึง 7.8% YoYโดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการใช้นโยบาย China+1 และการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านนโยบาย Make in India  อีกทั้งดัชนีผู้จัดการภาคการผลิต (PMI) และการบริการยังอยู่เหนือ 50 สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ (Demand) อยู่

         ตลาดหุ้นไทย: SET Index ปรับขึ้น 1.53% จากเดือนที่แล้ว จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่นำโดย DELTA สอดรับกับความต้องการของโลก และกลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL หลังรัฐบาลมีเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นในประเทศยังบ่งบอกถึงการชะลอตัว การส่งออกเดือนมิ.ย. -0.3% จากปีก่อนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% จากการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ที่ตกลง เนื่องจากสภาวะอากาศที่ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย อีกทั้งตลาดสำคัญอย่างจีนมีความต้องการน้อยลงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้า การท่องเที่ยวชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วง low-season อีกทั้งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 จากนโยบาย Free Visa ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาส 1 ติดลบ 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นการติดลบติดกัน 2 ไตรมาส เนื่องจากหลายธุรกิจได้ปิดโรงงานหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

      ตลาดหุ้นเวียดนาม: ตลาดหุ้นเวียดนามปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 0.5% หลังช่วงต้นเดือนปรับขึ้นใกล้เคียงกับเป้าหมายประมาณ 1,300 จุดตามที่บลจ. พรินซิเพิลคาดการณ์ไว้ อีกทั้งนาย เหงียน ฝู จ่องเลขาธิการพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลเวียดนามถึงแก่อสัญกรรมจากโรคประจำตัวและโรคชราในวัย 80 ปี ทำให้นายโต ลาม ประธานาธิบดีคนปัจจุบันต้องเข้ารักษาการแทน ทั้งนี้ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง โดย GDP ไตรมาส 2/2567 ปรับขึ้นใกล้เคียง 7% YoY ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่โตต่อเนื่อง เดือนก.ค. ปรับขึ้น 11.2% YoY โดยเฉพาะภาคการผลิต การส่งออกเดือนมิ.ย. สูงขึ้น 19.1% จากเดือนก่อน และมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 35.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้แรงงานในเวียดนามมีการบริโภคมากขึ้นสะท้อนผ่านตัวเลขค้าปลีกเดือนก.ค.ที่ปรับขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นการโตเหนือระดับ 9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 

         สินทรัพย์ทางเลือก: ราคากองทุนอสังหาริมทรัพย์และREITs ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกปรับขึ้นแรงจากเดือนก่อน 7.7% และ 6.0% ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์แบบตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นการที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มวัฏจักรลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ที่จะถึงนี้ ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจกลุ่มอสังหาฯ/REITs อีกครั้ง เนื่องจากราคาปรับลดลงอย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนมีมูลค่าที่น่าดึงดูด

Image

คำเตือน

  • PRINCIPAL GREITs กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector Fund) ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจํานวนมาก 
  • PRINCIPAL GREITs, PRINCIPAL GQE, PRINCIPAL GESG และ PRINCIPAL GCREDIT กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
  • PRINCIPAL GIF กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในยุโรปและอเมริกาเหนือ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย 
  • PRINCIPAL GESG มิได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการและการจัดทำรายงานของกองทุนรวมเช่นเดียวกับ SRI Fund 
  • PRINCIPAL VNEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
  • PRINCIPAL KEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเกาหลี ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย 
  • PRINCIPAL DPLUS มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนซึ่งจะไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จึงอาจทำให้กองทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศอื่น ๆ ดังนั้น บริษัทจัดการจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุน ณ ต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทจัดการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน (Hedging) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน กองทุนมีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ กองทุนอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าทุนเริ่มแรกได้ 
  • ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต 
Image

 

คำเตือน: Principal Asset Allocation Plan เป็นบริการการแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนแบบการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) ตามระดับความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ลงทุน โดยเป็นการพิจารณาและประเมินภาวะการลงทุน เพื่อการสร้างและปรับพอร์ตอย่างสมดุล และอาจจะพิจารณาและนำเสนอการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนหรือปรับพอร์ตลงทุนเป็นรายเดือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและสอดรับกับภาวะการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เปลี่ยนไปตามภาวะตลาดส่งผลให้สัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการปรับเปลี่ยนไปจากสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม อาจทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำไปกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนเข้าสู่สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม Principal Asset Allocation Plan เป็นเพียงคำแนะนำของ บริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจ ไม่ได้รับผลตอบแทนตามคาดหวัง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความ เข้าใจการจัดสรรการลงทุน (Basic Asset Allocation) ตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต.
             พอร์ตการลงทุนดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการสัดส่วนการลงทุนซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลงทุนจริง ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด การลงทุนและโอกาสการลงทุนในแต่ละขณะ ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนการลงทุน ไม่ใช่การรับประกันหรือยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต/ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
 

คำอธิบายประกอบตารางมุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์

  • OW ย่อมาจาก Overweight หมายถึง ให้น้ำหนักมากกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)
  • UW ย่อมาจาก Underweight หมายถึง ให้น้ำหนักน้อยกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)

คำอธิบายประกอบ Clients’ Portfolio Model 5 พอร์ตลงทุนแนะนำ 

  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “ปานกลางค่อนข้างสูง” แนะนำพอร์ตการลงทุน “Income” 
  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูง” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income” และ “Balance”
  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูงมาก” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income”, “Balance”, “Growth”, “Active Growth” และ “Global Growth”
  • ทั้งนี้หากท่านผู้ลงทุนมีความประสงค์จะลงทุนในพอร์ตลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงการลงทุนของท่าน ท่านจะต้อง “ยืนยัน” รับทราบความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนที่ท่านได้เลือกลงทุน

คำอธิบายประกอบ Expected Return และ Return Volatility (ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ในระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้า)
    Expected Return และ Return Volatility หมายถึง อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงคาดการณ์เฉลี่ยต่อปี สำหรับการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมาจากการศึกษาข้อมูล ในอดีตย้อนหลังเป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น ชุดข้อมูลดังกล่าว จึงมิได้ยืนยันถึงอัตราผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต Expected Return และ Return Volatility คำนวณมาจาก อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในอดีตของตราสารทุนไทย ตราสารทุนต่างประเทศ และการลงทุนทางเลือกในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs ผ่านดัชนีที่ใช้เป็นตัวแทนแต่ละสินทรัพย์ ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (ตั้งแต่ มกราคม 2557 ถึง กรกฎาคม 2567) ขณะที่ตราสารหนี้ไทย คำนวณมาจาก แนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากเส้นอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ หรือ Bond Yield Curve

ดัชนีที่ใช้ในการคำนวณอัตราผลตอบแทนในอดีตของแต่ละ สินทรัพย์ ได้แก่

  • ตราสารหนี้ : ดัชนี GovBond 1-3Yrs NTR Index (50%) + MTMCorpA-up 1-3Yrs NTR Index (25%) + Avg12MFixed(BBL,KBANK,SCB) (25%)
  • ตราสารทุนต่างประเทศ : ดัชนี MSCI ACWI Total Return Index 
  • ตราสารทุนไทย : ดัชนี SET Total Return Index 
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs : ดัชนี SET PF&REIT Total Return Index (50%) + ดัชนี FTSE ST Real Estate Investment Trusts Total Return Index (50%)

ผู้จัดทำ

  • ศุภจักร เอิบประสาทสุข – Head of Investment Strategy
  • ธเนศ เลิศเพชรพันธ์ – Investment Strategist
  • มินตรา จันทวิชชประภา – Investment Strategist
  • มนสิชา อุทิศชลานนท์ – Investment Strategist