PRINCIPAL Monthly Report ประจำเดือน พฤศจิกายน 2566


PRINCIPAL Monthly Report ประจำเดือน พฤศจิกายน 2566
 

Ass1

*เป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ไม่ใช่ผลตอบแทน
ที่มา : Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2566
 

          ตลาดหุ้นหลักทั่วโลกในเดือนต.ค.ปรับตัวลดลงจากเดือนก.ย. หลังดัชนีทางเศรษฐกิจประเทศหลักที่ประกาศของ    ไตรมาส 3/2566 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในอนาคตจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี ส่งผลลบกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น โดยตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น จีน ไทย และเวียดนามมีพึ่งพาการส่งออกสูง ในส่วนของราคาทองคำนั้นมีการปรับขึ้นแรงจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาส-อิสราเอลตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่มีการปรับขึ้นในระหว่างเดือนตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง

ตราสารหนี้ : อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield ) อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 5% ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. สูงสุดในรอบ 16 ปี  จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง ทั้งยอดค้าปลีกและตัวเลขการจ้างงาน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยหากจำเป็น  ทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed อาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงในระยะเวลานาน (Higher for Longer) ส่งผลให้ Bond yield ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนก.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.3%YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.88% จากการชะลอตัวของราคาพลังงาน มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล และราคาอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ 
 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : ดัชนี S&P500 ปรับลดลง -2.20% ในเดือน ต.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงแรก จากท่าทีของคณะกรรมการ Fed ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) เดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าจาก 4.3% YoY อยู่ที่ 4.1% YoY ตามตลาดคาด ประกอบกับผลประกอบการงบไตรมาส 3/2566 ของบริษัทในตลาดหุ้นที่เริ่มประกาศออกมาในภาพรวมดีกว่าที่ตลาดคาด นำโดยกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนต.ค. จากหลายปัจจัย คือ 1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับขึ้นสูง 2) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง  โดยยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดคาด อยู่ที่ 0.7% MoM ในขณะที่ตลาดคาด  0.3% MoM 3) ถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่ยังไม่ปิดโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4) ความตึงเครียด ระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังดำเนินอยู่ เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นยุโรป : ดัชนี STOXX Europe 600 ปรับตัวลงจากเดือนก.ย. -3.68% ในเดือน ต.ค. โดยแรงกดดันมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปในภาพรวมที่ยังคงอ่อนแอ จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคผลิตและภาคการบริการในเดือนก.ย. ยังคงหดตัวออกมาต่ำกว่าระดับ 50 จุดโดยอยู่ที่  43.4 และ 48.7 จุดตามลำดับ และยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดอยู่ที่ -2.1% YoY ขณะที่ตลาดคาด  -1.2% YoY  อีกทั้งตลาดหุ้นยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้นทั้งในสหรัฐฯ  และยุโรป และความกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทั้งนี้ ด้านอัตราเงินเฟ้อของยุโรปเดือน ก.ย. เป็นไปตามตลาดคาด อยู่ที่ +4.3% YoY จึงคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยใกล้สูงสุดแล้ว 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเดือนต.ค.ลดลง -3.14% จากเดือนก.ย. โดยรายงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนส.ค. ลดลงจากเดือนก่อน -0.7% MoM ตัวเลขค้าปลีกเดือนส.ค. อยู่ที่ 0.1% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 0.4% ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าสูง ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในโตเกียว (Tokyo CPI) เดือนก.ย.อยู่ที่ 2.8% YoY ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ตั้งไว้ที่ 2.5% โดย BOJ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากต่างจากนโยบายของประเทศอื่น ๆ  นอกจากนี้ BOJ ได้มีมติคงตัวเลขเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ที่ -0.1% และ 0% ตามลำดับ โดยคงกรอบควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ที่ 1% เช่นเดิม ส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นจีน : ตลาดหุ้นจีนทั้ง  A-Shares และ H-Shares ช่วงเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. ตกลง -3.17% และ -4.66% ตามลำดับ ถึงแม้ดัชนีเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาจะดีกว่าที่คาดการณ์ การเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 4.9% YoY สูงว่าตลาดคาดที่ 4.5% YoY ดัชนีค้าปลีกเดือนก.ย. อยู่ที่ 5.5% สูงกว่าตลาดคาดที่ 4.9% การส่งออกในเดือนก.ย.ยังคงติดลบที่ - 6.20% YoY แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ - 8.0% YoY จากความพยายามของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายการคลังโดยมีการอนุมัติแผนเพิ่มอัตราส่วนการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Deficit Ratio) จาก 3% ของ  GDP ในเดือนมีนาคม 2566 เป็น 3.8% ของ GDP ในไตรมาสที่ 4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็นเงิน 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท)

ตลาดหุ้นเวียดนาม : ตลาดหุ้นเวียดนามติดลบ -10.91% ในเดือนตุลาคม หลังผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการที่อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.เพิ่มสูงขึ้น 1.08% MoM (3.66% YoY) จากเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าที่รัฐตั้งเป้าไว้ที่ 3.2% - 3.6% YoY สำหรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที 1, 2 และ 3 เติบโต 3.28% YoY , 4.05% YoY และ 5.33% YoY ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสสูงที่จะต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 6.5%  อีกทั้งนักลงทุนรายย่อยเทขายหุ้นกลุ่ม Vingroup จำนวนมากหลักบริษัทมีแผนออกหุ้นกู้แปลงสภาพที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่เคยออกถึง 3 เท่า ส่งผลให้นักลงทุนที่กังวลจากตลาดหุ้นที่ตกลงในช่วงที่ผ่านมาอยู่แล้วขายหุ้นตัวอื่น ๆ ในตลาดเพื่อลดความเสี่ยงลง

ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ : ความกังวลด้านสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่คาดว่าจะยืดเยื้อทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นแรง 7.32% จากเดือนก.ย. จากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจาก -8.29% แต่ในระยะสั้นราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส


 

ass2

ass3


ในเดือนต.ค. เรามีมุมมอง Neutral ในกลุ่ม ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ประเภท Investment grade ที่มีคุณภาพดีทั้งในประเทศและต่างประเทศจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ในขณะที่ตราสารทุนเราก็มีมุมมอง Neutral จากแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2024 และการเพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ที่ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นลดลง แต่มูลค่าของตลาดหุ้นโดยรวมเริ่มอยู่ในจุดน่าสนใจ โดยเรามีมุมมอง Slightly UW ต่อหุ้นยุโรปหลังตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวออกมาต่ำกว่าที่คาด และมีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นเวียดนามเนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งในระยะยาว แต่ระยะสั้นยังมีโอกาสถูกกดดันจากแรงขาย ในส่วนของ กองทุนอสังหาฯ เรามีมุมมอง Slightly UW ในภาพรวมยังคงในน้ำหนักต่ำกว่าดัชนีชี้วัดจากการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐที่ยังไม่แน่นอน อีกทั้งกองทุนอสังหาฯไทยที่น่าสนใจน้อยลงจากทิศทางเงินลงทุนจากต่างชาติที่ยังไม่ชัดเจน และเรามีมุมมอง Slightly OW สินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาสนั้นมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงระยะยาวได้ ซึ่งสอดคล้องกับราคาทองคำที่ปรับขึ้นจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven)

 

ass4


 

ass5

ass6


คำเตือน : Principal Asset Allocation Plan เป็นบริการการแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนแบบการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) ตามระดับความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ลงทุน โดยเป็นการพิจารณาและประเมินภาวะการลงทุน เพื่อการสร้างและปรับพอร์ตอย่างสมดุล และอาจจะพิจารณาและนำเสนอการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนหรือปรับพอร์ตลงทุนเป็นรายเดือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและสอดรับกับภาวะการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เปลี่ยนไปตามภาวะตลาดส่งผลให้สัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการปรับเปลี่ยนไปจากสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม อาจทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำไปกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนเข้าสู่สัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม Principal Asset Allocation Plan เป็นเพียงคำแนะนำของ บริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจ ไม่ได้รับผลตอบแทนตามคาดหวัง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความ เข้าใจการจัดสรรการลงทุน (Basic Asset Allocation) ตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต.

พอร์ตการลงทุนดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการสัดส่วนการลงทุน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อลงทุนจริง ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด การลงทุนและโอกาสการลงทุนในแต่ละขณะ ทั้งนี้ ประมาณการสัดส่วนการลงทุน ไม่ใช่การรับประกันหรือยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต/ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

คำอธิบายประกอบตารางมุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์

  • OW ย่อมาจาก Overweight หมายถึง ให้น้ำหนักมากกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)
  • UW ย่อมาจาก Underweight หมายถึง ให้น้ำหนักน้อยกว่าตัวเปรียบเทียบ (Benchmark)

คำอธิบายประกอบ Clients’ Portfolio Model 5 พอร์ตลงทุนแนะนำ 

  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “ปานกลางค่อนข้างสูง” แนะนำพอร์ตการลงทุน “Income” 
  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูง” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income” และ “Balance”
  • สำหรับผู้ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยง “สูงมาก” ท่านสามารถลงทุนในพอร์ตการลงทุน “Income”, “Balance”, “Growth”, “Active Growth” และ “Global Equity”
  • ทั้งนี้หากท่านผู้ลงทุนมีความประสงค์จะลงทุนในพอร์ตลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงการลงทุนของท่าน ท่านจะต้อง “ยืนยัน” รับทราบความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนที่ท่านได้เลือกลงทุน

คำอธิบายประกอบ Expected Return และ Return Volatility (ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ในระยะเวลา 3 ปี ข้างหน้า)
Expected Return และ Return Volatility หมายถึง อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงคาดการณ์เฉลี่ยต่อปี สำหรับการลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมาจากการศึกษาข้อมูล ในอดีตย้อนหลังเป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น ชุดข้อมูลดังกล่าว จึงมิได้ยืนยันถึงอัตราผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต Expected Return และ Return Volatility คำนวณมาจาก อัตราผลตอบแทนและค่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในอดีตของตราสารทุนไทย ตราสารทุนต่างประเทศ และการลงทุนทางเลือกในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs ผ่านดัชนีที่ใช้เป็นตัวแทนแต่ละสินทรัพย์ ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (ตั้งแต่ ตุลาคม 2013 ถึง ตุลาคม 2023) ขณะที่ตราสารหนี้ไทย คำนวณมาจาก แนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากเส้นอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ หรือ Bond Yield Curve

ดัชนีที่ใช้ในการคำนวณอัตราผลตอบแทนในอดีตของแต่ละ สินทรัพย์ ได้แก่

  • ตราสารหนี้ : ดัชนี GovBond 1-3Yrs NTR Index (50%) + MTMCorpA-up 1-3Yrs NTR Index (25%) + Avg12MFixed(BBL,KBANK,SCB) (25%)
  • ตราสารทุนต่างประเทศ : ดัชนี MSCI ACWI Total Return Index 
  • ตราสารทุนไทย : ดัชนี SET Total Return Index 
  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs : ดัชนี SET PF&REIT Total Return Index (50%) + ดัชนี FTSE ST Real Estate Investment Trusts Total Return Index (50%)


ผู้จัดทำ
ศุภจักร เอิบประสาทสุข – Head of Investment Strategy
ธเนศ เลิศเพชรพันธ์ – Investment Strategist
มินตรา จันทวิชชประภา – Investment Strategist
มนสิชา อุทิศชลานนท์ – Investment Strategist


คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน / PRINCIPAL GQE, PRINCIPAL GESG และ PRINCIPAL GHEALTH กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL GOPP กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในอเมริกาเหนือ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL VNEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL GESG มิได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการและการจัดทำรายงานของกองทุนรวมเช่นเดียวกับ SRI Fund / PRINCIPAL GHEALTH ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม Healthcare จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก / PRINCIPAL GCF มีความเสี่ยงสุงและซับซ้อน ผู้ลงทุนจึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ก่อนตัดสินใจลงทุน / บริษัทจัดการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน (Hedging) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน / กองทุนมีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ กองทุนอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าทุนเริ่มแรกได้ / ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต