ขั้นตอนการวางแผนการเงิน ให้รอดจากวิกฤต COVID

ใครจะไปรู้ว่าเข้าสู่ปี 2020 ได้ไม่ถึง 3 เดือน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว สร้างผลกระทบต่อรายได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ บริษัท เจ้าของกิจการ หรือแม้กระทั่งมนุษย์เงินเดือน
 
ดังนั้นหาก ‘รายได้’ มีแนวโน้มจะลดลงหรือเพิ่มได้ยากขึ้น แต่หันไปอีกด้านทั้ง ‘ค่าใช้จ่าย’ และ ‘หนี้สิน’ กำลังเดินเข้าหาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เมื่อสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งยังผลกระทบก็ยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนทั้งในแง่ของขนาดและระยะเวลา การกลับมา ‘วางแผนการเงิน’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ เมื่อขึ้นชื่อว่าการวางแผนแล้วก็ต้องตามมาด้วยขั้นตอน อันประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้อย่างง่ายดาย ดังนี้
 
1. สำรวจตัวเอง
ก่อนจะมองและมุ่งไปข้างหน้า ลองกลับมาสำรวจสิ่งที่ตัวเองมีกันก่อน เริ่มกันที่สินทรัพย์ก่อนว่าเก็บออมไว้ที่ใดบ้าง เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้น หรือกองทุนรวม นอกจากนี้ควรสำรวจด้วยว่าสินทรัพย์ที่ัเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายอยู่ที่ใด มีมากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมประเภทตลาดเงิน ซึ่งส่วนนี้จะมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งในช่วงวิกฤตแล้วค่าใช้จ่ายมีโอกาสเข้ามาอย่างกะทันหันมากขึ้นไปด้วย และต้องไม่ลืมที่จะสำรวจหนี้สินและค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า หรือค่าเบี้ยประกัน และค่าใช้จ่ายผันแปรซึ่งมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิต ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาล

หลังจากนั้นก็ต้องนำสินทรัพย์หักลบกับค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ได้รู้ว่าสภาพทางการเงินที่แท้จริง แปลอย่างง่าย ก็คือพอใช้จ่ายได้อีกกี่เดือน สำหรับบางคนอาจกลับไปตรวจดูประโยชน์ที่ตนเองมี เช่น ประกันสังคม ประกันของบริษัท ประกันที่ซื้อมาก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือสิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างนี้ 

2. วางแผน ตั้งงบล่วงหน้า / แบ่งเงินใช้ตามวัน / จดบันทึกทึกการใช้จ่าย
เมื่อเห็นแล้วว่าสามารถใช้จ่ายได้อีกกี่เดือน ขั้นตอนต่อมาเปรียบเสมือนการวางแผนเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีวินัย
เริ่มต้นจากตั้งงบใช้จ่ายล่วงหน้าซึ่งอาจเริ่มจากการแบ่งเป็นรายเดือน จากนั้นก็แบ่งเป็นรายวัน และในสถานการณ์เช่นนี้ทุกรายจ่ายต้องถูกบันทึก เพื่อทบทวนว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และนำไปปรับปรุงแผนสำหรับเดือนถัดไป อีกทั้งยังเป็นการฝึกวินัยการใช้จ่ายไปด้วย
 
มาถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า แล้วกำหนดระยะเวลาเพื่อตั้งบล่วงหน้าเท่าไรดี? โดยเฉลี่ยแล้ววิกฤตในอดีตกินระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน กว่าที่เศรษฐกิจจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ สำหรับวิกฤตครั้งนี้ที่ยังไม่มีอะไรชัดเจนแล้วแนะนำว่าใช้ระยะเวลา 12 เดือน เพื่อความรอบคอบมากที่สุด
 
3. เพิ่มสภาพคล่องให้ตัวเอง
ในขั้นตอนที่ผ่านมา หลายคนอาจพบว่าสภาพทางการเงินไม่เพียงพอให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ ในขณะที่บางคนอาจพบว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ตอบโจทย์ทุกคนไม่ว่าจะมีสภาพทางการเงินแบบใดก็ตาม
เมื่อค่อนข้างคาดเดาได้ว่ารายได้มีแนวโน้มลดลงหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การหารายได้เสริมเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อออนไลน์เข้าถึงทุกบ้านทุกวัย โดยอาจเปลี่ยนงานอดิเรกมาทำเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสอนคอร์สเรียนออนไลน์ ขายของเดลิเวอรี่ หรือแม้กระทั่งสร้างบล๊อคเขียนบทความ

ไม่ว่าการหารายได้เสริมจะเพียงพอต่อการรอดจากวิกฤตครั้งนี้ได้หรือไม่ การลดค่าใช้จ่ายเป็นอีกสิ่งที่ทุกคนควรทำเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากค่าใช้จ่ายผันแปรที่ขึ้นกับการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ส่วนค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งมักจะเป็นภาระหนี้สิน หากเป็นภาระหนี้สินก้อนใหญ่เกินไป และไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ ควรเจรจาเพื่อขอพักชำระหนี้ นอกจากนี้ไม่ควรก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มเติมอีกในช่วงนี้
 
นอกจากเรื่องการเงินที่ต้องดูแลแล้ว สุขภาพกายและใจก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไป หมั่นออกกำลังกาย ดูแลสุขอนามัย อีกทั้งต้องไม่กดดันตัวเองมากเกินไปจนเกิดความเครียด หากทำได้เช่นนี้แล้วเชื่อได้เลยว่านอกจากเราทุกคนจะรอดจากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้แล้ว อาจจะค้นพบงานอดิเรกเพิ่มหรือลู่ทางหารายได้ใหม่อีกด้วย