5 ทริค Work from Home สุขภาพเงินแฮปปี้ สุขภายกายเฮลตี้

ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้หลาย ๆ บริษัทมีนโยบาย Work from Home ขึ้นมาเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่การ Work from Home ขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยของพนักงานเท่ากับการอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง จะจัดการชีวิตอย่างไร ให้สุขภาพการเงินแฮปปี้ สุขภาพกายเฮลตี้ วันนี้มี 5 ทริคมาฝากกัน มีอะไรบ้าง มาเริ่มที่ทริคแรกกันเลย

1) จัดเวลาชีวิตให้ลงตัว
ในช่วงที่สถานการณ์ยังปกติ พอถึงออฟฟิศทุกคนจะเริ่มต้นทำงานของตัวเอง เที่ยงตรงออกไปรับประทานอาหาร (ที่ชอบจะมีคำถามว่า “วันนี้กินอะไรดี?” อยู่บ่อยๆ) เวลาพักก็ไม่อยากพูดถึงเรื่องงาน ตกเย็นเลิกงาน ก็อยากทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศก่อน วันรุ่งขึ้นค่อยมาจัดการกันต่อ
จะเห็นว่าในสถานการณ์ปกติเราสามารถแบ่งเวลาทำงาน เวลาพัก และเวลาเลิกงาน ได้อย่างชัดเจน แต่ทำไมพอมา Work from Home กลายเป็นว่าเราทำงานตลอดเวลา เกือบ 24 ชั่วโมงเสียอย่างนั้น
การแก้ปัญหาข้อนี้ เราต้องวางแผนงานให้ชัดเจน จะเริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนสิ้นวัน หรือตอนเช้าก่อนเริ่มทำงานก็ได้ ว่าวันนี้เราจะทำงานอะไรบ้าง โฟกัสงานทีละชิ้น พักสายตาทุก 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย และในเวลาพักพยายามถอยห่างออกจากจอ เพื่อจะได้มีเวลาให้ร่างกายได้ผ่อนคลายบ้าง

2) ระวังไม่ให้ค่าใช้จ่ายพุ่ง 
Work from Home แบบนี้ แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนที่ยังอยู่ ส่วนที่หายไป และส่วนที่เพิ่มขึ้นมา มาดูในส่วนของค่าใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มขึ้นมากันดีกว่าว่าจะระวังอย่างไรได้บ้าง

  • ค่าอาหาร - สำหรับคนที่ทานอาหารที่บ้าน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจจะลดลงไป แต่สำหรับใครที่อยู่คนเดียว ไม่ได้ทำอาหารทานเอง ค่าใช้จ่ายอาจจะพุ่งขึ้นได้ จากการใช้บริการ Food Delivery จะประหยัดได้มากขึ้นหากทำอาหารทานเองในบางมื้อ หรือซื้อเฉพาะกับข้าวชุดใหญ่ และหุงข้าวทานเอง จะช่วยประหยัดไปได้หลายมื้อเลย
  • ค่าไฟ - การทำงานที่บ้าน คือการที่เราได้อยู่บ้านในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน หากเปิดแอร์ไว้ตลอดเวลา ค่าไฟพุ่งกระฉูดอย่างแน่นอน สามารถประหยัดค่าไฟได้จากการเปิดพัดลมก่อนในช่วงเช้า หรือเปิดแอร์อุณหภูมิที่สูงขึ้นมาหน่อย ควบคู่กับการเปิดพัดลมเบา ๆ จะช่วยลดการทำงานของแอร์ลงได้ และอย่าลืมถอดปลั๊ก หรือปิดสวิตซ์ เวลาเลิกใช้งาน หรือเมื่อชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เต็มแล้ว เป็นส่วนช่วยประหยัดค่าไฟได้เหมือนกัน
  • ค่า Shopping - เมื่อทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ แล้วเราจะไปซื้อของที่ไหนได้ หากไม่ใช่แอป Online Shopping เป็นช่วงที่ต้องตั้งสติดี ๆ ดูว่าของชิ้นไหน จำเป็นกับเราจริง ๆ ก่อนจะกด Add to Cart ลองนึกดูก่อนว่าของชิ้นนี้ เราซื้อมาแล้วจะได้ใช้เลย หรือจจะอยู่ในกล่องอย่างนั้นไปอีกหลายวัน ถ้าเป็นแบบนี้ ของชิ้นนั้นอาจไม่ได้จำเป็นกับเราสักเท่าไรนัก อย่าลืมตั้งสติก่อนกด Add to Cart นะ!

3) ถึงเวลาพัฒนาตัวเอง
หากเราจัดการชีวิตให้ลงตัวจากทริคข้อที่ 1 ได้ดีแล้ว เราจะมีเวลาในการพัฒนาตัวเองอย่างแน่นอน เพราะเวลาเดินทางเราหายไป ไม่ต้องเดินทางไกล เวลารับประทานอาหารเราก็สั้นลง ไม่ต้องรอคิวนาน เราสามารถใช้เวลาตรงนี้มาพัฒนาตัวเองได้ ลองเริ่มจากกิจกรรมที่ชอบก่อน เช่น การอ่านหนังสือ เรียนคอร์สออนไลน์ ฟัง Podcast ในเรื่องที่สนใจ หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกาย
เรา Work from Home ทำให้ใน 1 วัน มีจำนวนก้าวในการเดินที่ลดลงไปมาก นั่งทำงานนาน ๆ อาจจะรู้สึกปวดเมื่อยร่างกาย และรู้สึกปวดหัวได้ง่าย

ในช่วงพักกลางวัน หรือหลังเลิกงาน ลองออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการยืดเส้น หรือ โยคะ จากคลิปใน Youtube ประมาณ 10-15 นาที ช่วยให้สมองปลอดโปร่งและลดอาการตึงของกล้ามเนื้อได้
หรือใครอยากใช้โอกาสนี้ในการฟิตร่างกาย เพื่อให้เพื่อนๆ ในออฟฟิศตะลึงในวันที่กลับไปทำงานแล้ว ก็ทำได้เช่นเดียวกัน ด้วยการจัดตารางออกกำลังกาย 3-5 วันต่อสัปดาห์ รับรองว่าสุขภาพกายจะดีขึ้นและได้หุ่นที่บางลงมาเป็นของแถมอีกด้วย

4) เปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นรายได้
เชื่อว่าทุกคนต้องมีสิ่งที่ชอบทำเป็นงานอดิเรก ช่วงเวลานี้ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ลองนึกทบทวนดูว่าเราทำอะไรได้บ้างและเราชอบทำอะไร เพราะงานอดิเรกที่เราชอบ อาจสร้างรายได้ให้เราก็ได้นะ

บางคนชอบทำอาหาร แต่พอไปทำงานเลยไม่ค่อยได้ทำเท่าไรนัก สามารถใช้โอกาสนี้ในการหมั่นฝึกฝนวิชา พัฒนามาสร้างรายได้จากการขายอาหารออนไลน์ได้

บางคนชอบอ่านหนังสือ ชอบดูซีรีส์/ภาพยนตร์ ลองสร้าง Facebook Page ทำสรุปเนื้อหาออกมาในรูปแบบของบทความ หรือ Infographic สำหรับใครที่ไม่ถนัดเขียน แต่ถนัดพูด ลองสร้างช่อง Podcast หรือ Youtube ขึ้นมาเพื่ออ่านสรุปก็ได้ เผื่อว่าในอนาคตมีโอกาสได้ผันตัวไปเป็น Influencer เป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับเราได้เช่นกัน

5) ถึงเวลาวางแผนลงทุน
การที่เราได้ Work from Home เท่ากับเรายังมีรายได้อยู่ ซึ่งตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่จะเริ่มต้นวางแผนการลงทุน เพราะอนาคตไม่มีอะไรที่แน่นอน ในวันนี้เรายังมีรายได้ ในขณะที่หลาย ๆ คนได้รับผลกระทบ เราจึงไม่ควรชะล่าใจ

คำว่า “การลงทุน” ไม่ได้แปลว่าจะมีแต่ความเสี่ยงเสมอไป เราสามารถเริ่มต้นจากการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ไว้ใช้ในยามที่เราขาดรายได้ ก็ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนเช่นกัน แนะนำให้เก็บ 3-6 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน หรือจะเก็บ 12-18 เดือนเลย เพื่อความอุ่นใจที่มากขึ้น โดยสามารถแบ่งเงิน 10-20% จากรายได้ในแต่ละเดือน มาลงทุนในรูปแบบของ DCA (Dollar-Cost-Average) หรือการทยอยลงทุนรายเดือน มาลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง อย่างกองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 

ยกตัวอย่าง
มีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้นควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000-120,000 บาท จะทำให้เราสามารถอยู่ได้ 3-6 เดือน โดยจะไม่กระทบรายจ่ายคงที่ในส่วนที่ต้องจ่ายในทุกๆ เดือน แม้จะได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ 

ทั้งนี้สำหรับผู้อ่านที่สนใจสร้างเป้าหมายการลงทุนผ่านกองทุนรวม ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง  และผลการดำเนินงาน ของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในแหล่งต่าง ๆ หรือให้ขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ก่อนการตัดสินใจลงทุน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ บลจ.พรินซิเพิล ได้ที่ https://www.principal.th/th/mutual-fundth