หลักธรรมาภิบาลการลงทุน

หลักธรรมาภิบาลการลงทุน

 

วัตถุประสงค์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตและความเป็นอยู่ของประชากรโดยได้มีมาตรการหลายส่วนผสมผสานกัน ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุนสถาบันถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ควรบริหารการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คือ นอกจากการพิจารณาลงทุนจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของกิจการที่ลงทุนแล้ว ยังควรพิจารณาในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี (“ESG”) ของกิจการดังกล่าวด้วย และหากกิจการนั้นมีประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าว ผู้ลงทุนสถาบันก็ควรผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ จึงได้มีการออกหลักปฏิบัติเพื่อเป็นธรรมาภิบาลของผู้ลงทุนสถาบันในการบริหารจัดการลงทุน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีที่สุดของเจ้าของเงินลงทุน และผู้ลงทุนสถาบันนั้นเองในระยะยาวด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) ตระหนักถึงความสำคัญที่ควรมีหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการบริหารจัด การลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลที่กล่าวข้างต้น การมีหลักธรรมาภิบาลการลงทุนนี้ จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ลงทุนสถาบันที่รับจัดการเงินลงทุนให้กับทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัทและกิจการในตลาดทุนไทยด้วย

โดยหลักธรรมาภิบาลนี้เป็นแหล่งอ้างอิงหลักสำหรับบุคคลากรในแผนกการลงทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด รวมไปถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

หลักปฏิบัติของหลักธรรมาภิบาลการลงทุน

หลักปฏิบัติที่ 1: กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน

บริษัทจัดการได้จัดให้มีนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ให้ความสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดวัฒนธรรมการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลทั้งในระดับบริษัท คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการลงทุน และหน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยนโยบายดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และมีลักษณะดังต่อไปนี้
•    เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของผู้ลงทุนสถาบัน เช่น ขนาดโครงสร้าง และบทบาทในกระบวนการลงทุน (Investment chain)
•    จะต้องเป็นไปเพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันมีกระบวนการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบมีการตัดสินใจและติดตามการลงทุน การประกอบธุรกิจโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทจัดการจะปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อตกลงกับลูกค้าเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า และนำเรื่องเหล่านี้มาใช้ในการกำกับดูแลการลงทุน
•    การนำปัจจัยความรับผิดชอบทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทที่ลงทุนมาประกอบการพิจารณาลงทุน
•    การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งของผู้ลงทุนสถาบันและบริษัทที่ลงทุนโดยอ้างอิงตามข้อกำหนดของกฎหมายและของภาคอุตสาหกรรม
•    การจัดการกับการใช้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาของบริษัทที่ลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ
•    การป้องกันพฤติกรรมการลงทุนที่สร้างให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์
•    การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

หลักปฏิบัติที่ 2: มีการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า

•    มีจัดการลงทุนเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า ป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า และอยู่เหนือประโยชน์อื่นของผู้ถือหุ้นหรือกลุ่มธุรกิจ
•    เพื่อให้มั่นใจว่ามีมาตรการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ ควรจัดให้มีกระบวนการต่างๆ  ตัวอย่างเช่น

  • มีนโยบายในการบริหารและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษร 
  • กำหนดระบบงานและมาตรการ ตลอดจนวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เพียงพอ
  • มีการสื่อสารและอบรมให้พนักงานเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการและระบบงานที่กำหนดไว้
  • มีมาตรการรองรับการชี้เบาะแส
  • มีการทบทวนความเหมาะสมของมาตรการและระบบงานเป็นประจำ

หลักปฏิบัติที่ 3: ตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์

•    มีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นสามารถทราบการดำเนินงานและปัจจัยสำคัญของบริษัทที่ลงทุนได้ทันท่วงที
•    ติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ยกตัวอย่างเช่น

  • การติดตามข้อมูลข่าวสารและการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ลงทุน
  • การประชุมพบปะกรรมการและฝ่ายจัดการ
  • ใช้สิทธิออกเสียง และการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีและการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้น

หลักปฏิบัติที่ 4: เพิ่มระดับในการติดตามบริษัทที่ลงทุน เมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ

การเข้ามีส่วนร่วมอย่างทันท่วงทีของผู้ลงทุนสถาบันช่วยปกป้องและรักษามูลค่าการลงทุนในบริษัทที่ลงทุน ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อมูลค่าการลงทุนที่ต้องติดตามเป็นผลมาจาก 
•    กลยุทธ์ ผลประกอบการ และการจัดการกับความเสี่ยง
•    ความเชื่อมั่นในการบริหารกิจการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
•    ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในการดำเนินการเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการที่ใช้ตามความเหมาะสม เช่น
•    แจ้งข้อกังวลอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการบริษัท
•    เข้าพบกับประธานกรรมการ หรือกรรมการอิสระ
•    เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องดังกล่าว

หลักปฏิบัติที่ 5: เปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง

บริษัทจัดการจะพิจารณาใช้สิทธิออกเสียงในทุกบริษัทที่ลงทุน และตัดสินใจด้วยความระมัดระวังรอบคอบจากการพิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วน 

หลักปฏิบัติที่ 6: ร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสียตามความเหมาะสม

การร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นหรือผู้มีส่วนได้เสียของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการกับบริษัทที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังจากเพิ่มระดับในการติดตาม บริษัทจัดการจะประสานงานและเข้าร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นตามความเหมาะสม

หลักปฏิบัติที่ 7: เปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ


บริษัทจัดการจะทบทวนและเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานประจำปี และเว็บไซต์ของบริษัท