เมื่อฝันร้ายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้ง การวางแผนชีวิตจึงสำคัญ

เมื่อฝันร้ายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้ง การวางแผนชีวิตจึงสำคัญ

เหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในความคาดหมายและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศไทยในที่สุด ทำให้ทั้งบริษัทห้างร้านต่างๆ พนักงาน และเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ต่างก็ต้องหาหนทางในการบริหารจัดการรายรับและรายจ่าย ประคับประคองธุรกิจการงานและการใช้ชีวิตกันไปอีกครั้ง 

ซึ่งเหตุการณ์นี้นอกจากจะทำให้เห็นภาพการบริการจัดการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น ยังตอกย้ำถึงความสำคัญในการวางแผนชีวิตกันมากขึ้นอีกด้วย เพราะหากใครที่ไม่เคยวางแผนมาก่อนก็จะยิ่งเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจน จึงอยากจะชวนมาทบทวนการวางแผนเพื่ออนาคต ถึงแม้ว่าในตอนนี้ต้องโฟกัสกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เมื่อไหร่ที่สถานะเริ่มกลับมามีความมั่นคงก็จำเป็นจะต้องปรับปรุงแผนหรือวางแผนใหม่ทันที ซึ่งสองส่วนสำคัญที่ทุกคนควรมีก็คือ

การบริหารความเสี่ยง 

การลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางการไปสู่เป้าหมายที่ต้องการเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่าเราจะสามารถยึดติดกับแผนที่วางไว้ได้ตลอด ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก็คือ 

1. เงินสำรองฉุกเฉิน หรือด่านแรกของการป้องกันปัญหาทางการเงิน เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการเงินด้านอื่นๆ โดยทั่วไปเงินก้อนนี้อาจมีไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย เช่น มีความมั่นคงของรายได้มากเพียงใด หรือมีสินทรัพย์ที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินฉุกเฉินได้หรือไม่

2. การทำประกันประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันภัย หรือประกันทรัพย์สิน เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตและการสูญเสียอย่างกะทันหัน โดยเลือกแผนและผลประโยชน์ที่ตอบโจทย์ต่อเป้าหมายชีวิตของเราได้ หรือทำเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนแนวทางในอนาคต เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อการเกษียณ

3. การออมเงินเพื่อการเกษียณ นอกจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบัน เรายังจำเป็นต้องมองเผื่อไปยังอนาคต เพราะการวางแผนการเกษียณนั้นต้องใช้ระยะเวลา หากเริ่มต้นวางแผนช้าเกินไปอาจมีเงินไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณได้ ดังนั้นยิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยังมีโอกาสมากกว่า โดยหากเป็นพนักงานบริษัทก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะเติบโตจากเงินสะสมและเงินสมทบที่มีการนำส่งเข้ากองทุนทุกเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุน โดยระหว่างที่เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพจะได้รับยอดเงินทั้งหมดเป็นก้อนใหญ่ ทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.principal.th/th/provident-fund

การเก็บออมและลงทุน

เมื่อเรามีการวางแผนรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรให้ความสำคัญก็คือการเก็บออมและการลงทุน ซึ่งการออมนั้นควรแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยช่วงนี้อาจมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเพื่อชีวิตที่มั่นคงก่อน เน้นไปที่การลงทุนระยะยาว (Long term investment) ซึ่งมีความผันผวนของภาวะตลาดที่ต่ำ ซึ่งอาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนตราสารทุน ส่วนเป้าหมายที่ตอบสนองต่อความต้องการอื่นๆ ยังมีโอกาสบรรลุได้ในภายภาคหน้า และควรย้ำเตือนตัวเองไว้เสมอว่าสิ่งที่ไม่ควรทำคือการทุ่มลงทุนไปในช่องทางเดียว ควรกระจายการลงทุนให้หลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงอีกทาง 

และแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องตรวจสอบและทบทวนการวางแผนชีวิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมการรองรับเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะได้มั่นใจได้ว่าถึงแม้ฝันร้ายจะเข้ามาอีกครั้ง แต่เราจะไม่เจ็บหนักเหมือนครั้งที่ผ่านมา

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน/ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.principal.th/ หรือโทร 02-686-9595

Ref: https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/1-precuation-saving-t…, https://www.moneybuffalo.in.th/financial-planning/financial-planning-a-…