Move on เป็นคนใหม่ พิชิตเป้าหมายการเงินปี 2020

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว เชื่อว่าคงมีหลายคนที่กำลัง Move on อีกครั้งกับเป้าหมายทางการเงิน บ้างเลือกจะพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น และอาจมีบางคนที่ยังเป็นเพียงไอเดีย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เริ่มเสียที 

ไม่เป็นไร...ทิ้งสิ่งเหล่านั้นไปให้หมดครับ

กับปี 2020 ที่นอกจากจะเป็นปีใหม่แล้ว ยังเป็นทศวรรษใหม่ที่แสนพิเศษ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะมา Move on เป็นคนใหม่ พิชิตเป้าหมายการเงินปี 2020 อีกสักตั้งให้สำเร็จในที่สุด

แต่...การ Move on ครั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลุดจากเส้นทางเสียเวลาอย่างที่เคยเป็นกันมา จึงต้องมี 5 ขั้นตอนง่ายๆ ให้ได้นำไปปรับใช้เพื่อพิชิตเป้าหมายทางการเงินปี 2020

โฟกัสที่เป้าหมาย
การทำอะไรทุกอย่างเปรียบเสมือนการเดินทาง เป้าหมายทางการเงินก็เช่นเดียวกัน เราต้องเริ่มต้นที่การกำหนดเป้าหมายซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ระยะ นั่นคือ

เป้าหมายระยะสั้น โดยทั่วไปจะเป็นเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี เปรียบได้กับ checkpoint ระหว่างการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น การเก็บเงินเพื่อท่องเที่ยว ซื้อของให้รางวัลตัวเอง เก็บเงินแสนแรกให้ได้

เป้าหมายระยะกลาง เป็นเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในระยะ 3-7 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มความสะดวกสบาย หรือสร้างเนื้อสร้างตัว และท้ายที่สุดมักสอดคล้องกับทั้งเป้าหมายระยะสั้นและยาว เช่น การเก็บเงินเพื่อการศึกษาต่อ การเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้าน คอนโด หรือเก็บเงินล้านแรกให้ได้

เป้าหมายระยะยาว เป็นเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในระยะมากกว่า 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่าก็ได้ เปรียบได้กับเส้นชัยในการเดินทาง และแน่นอนว่ามักถูกละเลย บางครั้งไม่มีความชัดเจน ด้วยความที่ยังไกลตัว ยังมีเวลาอีกนาน แต่ความจริงแล้วเป้าหมายระยะยาวนี่แหละสำคัญที่สุดเลย เช่น การออมเงินให้ได้ 4 ล้านบาท ให้เร็วที่สุดเพื่อรองรับการเกษียณอายุ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเป้าหมายมีอะไรบ้าง การทำให้สำเร็จจำเป็นต้องมีแผนการ โดยแบ่งขั้นตอนได้ดังนี้ เริ่มจากรู้จักตนเองว่าเรามีพฤติกรรมอย่างไร ความรู้มากน้อยเพียงใด รับความเสี่ยงได้มากเพียงใด จากนั้นจัดลำดับและกำหนดระยะเวลาของเป้าหมาย พร้อมแบ่งสัดส่วนเงินให้เหมาะสม โดยต้องให้ความสำคัญของแผนทั้ง 3 ระยะ และออมไปพร้อมกัน คือ ในขณะออมแผนสั้น ก็ต้องออมแผนกลางและยาวไปด้วย ท้ายที่สุดต้องมีการทบทวนและปรับแผนการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

หารายได้เพิ่ม  /ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

บางครั้งการทำเป้าหมายทุกเป้าให้สำเร็จก็ต้องพึ่งพาเงินจำนวนมาก ขณะที่บางคนมีรายได้ไม่เพียงพอทำให้ต้องลดเป้าหมายลง อย่างไรก็ตาม เราอาจเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้ด้วยการหารายได้เพิ่ม เช่น ขายของออนไลน์ ทำอาชีพเสริม หรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ทำอาหารกลางหรือชงกาแฟดื่มเอง

แต่การเพิ่มรายได้ควรจะไม่กระทบเวลาพักผ่อน หรืองานหลัก ดังนั้นอีกทางเลิอกที่น่าสนใจ คือ การลงทุน ที่เปรียบได้กับการใช้เงินทำงานให้กับเรา ในระยะยาวจะทำให้เกิด Passive Income อาทิเช่น การลงทุนอสังหาฯ การลงทุนหุ้น หรือการลงทุนในกองทุนรวม แม้กระทั้งกองทุน RMF หรือ SSF ที่กำลังเริ่มในปี 2563

ใช้เงินทำงาน 

ต้องยอมรับว่าในการทำเงินได้มากอาจไม่ได้การันตีความมั่งคั่งในอนาคต แต่เราสามารถลดความเหนื่อยในการทำเงิน พร้อมเพิ่มโอกาสบรรลุเป้าหมายการเงินและสร้างความมั่งคั่งได้

ลองดูตัวอย่างนี้กันครับ เราลองออมเงินเดือนละ 2,000 บาท มาลงทุนกองทุนรวมตราสารทุน สมมติให้ผลตอบแทนได้ปีละ 5% (เงินฝากประจำอยู่ที่ประมาณ 1.75% ต่อปี) ลงทุนไปแบบนี้ 4 ปี คิดด้วยวิธีทบต้น นั่นคือ การลงทุนอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งนำดอกผลของเงินที่ลงทุนไปแล้วกลับมาลงทุนต่ออีก เราจะได้เงิน 106,030 บาท กำไรหรือใช้เงินทำงานได้เงินเพิ่ม 10,030 บาท (เก็บเงินไว้อย่างเดียว ไม่ลงทุนได้เงิน 96,000 บาท) 
นี่ยังไม่รวมการเพิ่มระยะเวลาลงทุนหรือเพิ่มเงินออมจากรายได้ที่เพิ่ม ในระยะยาวการลงทุนมีพลังมหาศาลมากครับ เมื่อกลับมามองที่ผลจะเห็นว่าเราสามารถใช้เงินส่วนนี้ไปจ่ายซื้อของให้รางวัลตัวเอง หรือต่อยอดการลงทุนต่อไปได้เลยครับ

ลงทุนให้ถูกทาง

เมื่อเรามีเป้าหมายพร้อมแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว โดยในแนวทางก็จะมีการลงทุนเป็นเครื่องมือเพื่อพาเราไปสู่ความสำเร็จ แต่เราก็ต้องใช้เครื่องมือให้ถูกทาง

โดยเราต้องศึกษาจนเข้าใจการลงทุนแต่ละรูปแบบ โดยอาจไม่ต้องถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ต้องรู้ว่าเป็นการลงทุนในอะไร ธรรมชาติของการลงทุนนั้นเป็นอย่างไร เช่น ความผันผวน สภาพคล่อง หรือแม้กระทั่งโอกาสขาดทุนสูงที่สุด

เมื่อมองภาพรวมของการลงทุนได้แล้ว แน่นอนว่าไม่มีอะไรเหมาะสมเข้าได้กับทุกอย่าง เช่นเดียวกันเราต้องเลือกการลงทุนที่ถูกทาง หรือพูดอย่างง่าย คือ หาการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ในหัวข้อก่อน เราได้รู้จักตัวเองไปกันแล้ว

คำถามที่น่าจะอยู่ในใจใครหลายคนน่าจะเป็น ‘แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเหมาะสมกับตัวเอง’ หลังจากใช้เวลาหาคำตอบอยู่นาน ก็ได้คำตอบว่า การลงทุนที่ถูกทางหรือเหมาะสม คือ การลงทุนที่ทำให้เรา ‘กินอิ่ม นอนหลับ ไม่กังวลกับตัวเลขในพอร์ต’ ดังนั้นหากเราเป็นผู้ที่รับความผันผวนได้ต่ำ ก็ควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นได้ 

และเมื่อใดที่เราพบความเหมาะสมนั้น บอกได้เลยว่าเราได้พบการลงทุนที่ถูกทางแล้ว และความสุขจากการลงทุนนี้แหละที่จะนำพาเราให้อยากศึกษาการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

สม่ำเสมอคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ได้เปรียบเป้าหมายการเงินเป็นเหมือนการเดินทาง แต่ดูเหมือนว่าการเดินทางสู่ความสำเร็จครั้งนี้จะไม่มีทางลัด มีเคล็ดลับเดียวที่นำพาไปสู่ความสำเร็จได้ซึ่งหนีไม่พ้น ‘ความสม่ำเสมอ’ ขอตัดภาพไปที่ไอดอลคนดังหลายท่านก็ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักและสม่ำเสมอ 

เช่น บิล เกตส์ ฝึกฝนเรื่องเขียนโค้ดตั้งแต่อายุเพียง 15-16 ปี จนกำเนิด Microsoft ในที่สุด หรือด้านสตีฟ จ็อบส์ ที่ขลุกตัวกับแผงวงจร สายไฟ หน้าจอ กว่าจะเข็น Apple I ออกมาดูโลก

และเมื่อพูดถึงความสม่ำเสมอในโลกการเงิน หลายคนคงนึกถึงการลงทุนแบบ DCA ที่เป็นการลงทุนทุกเดือน แต่มากกว่าความสม่ำเสมอของเงินลงทุน ทั้งผู้ที่สำเร็จกับเป้าหมายไปแล้วหรือผู้ที่กำลังอยู่บนเส้นทางสู่ความสำเร็จก็ต่างต้องมีความสม่ำเสมอหมั่นพัฒนาตนเอง และต้องมีความสม่ำเสมอในการทบทวนและปรับปรุงแผนการเพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ ซึ่งอาจกำหนดไว้ทุกไตรมาส ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี

ครบถ้วนไปเรียบร้อยแล้วกับ 5 ขั้นตอน Move on เป็นคนใหม่ พิชิตเป้าหมายการเงินปี 2020 การ Move on ครั้งนี้อาจมีแรงเสียดทานบ้าง แต่สุดท้ายนี้อยากฝากทุกคนที่ร่วมเดินทางสู่เป้าหมายว่า ถึงเวลาที่จะเริ่มเป็นคนใหม่แล้ว และอย่ากลัวความล้มเหลว เพราะมันจะสอนว่าความสำเร็จหน้าตาเป็นอย่างไร