การลงทุนมีความเสี่ยงหรือไม่

Is Investing Risky

ในชีวิตคนเรา ความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะซื้อบ้าน เดินทางไปโรงเรียน หรือเปลี่ยนงาน ก็ถือเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น แต่ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว การลงทุนก็เช่นกัน ความเสี่ยงอาจฟังดูน่ากลัว แต่ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุน และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินของคุณงอกเงยขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน

ทำไมความเสี่ยงในการลงทุนจึงสำคัญ

สำหรับนักลงทุนเช่นคุณ ความเสี่ยงหมายถึงระดับความไม่แน่นอน และ/หรือผลขาดทุนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจลงทุน กล่าวคือ เป็นการนำเงินไปลงทุนโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ต้องการหรือไม่ หรืออาจจะกลายเป็นความเสียหายที่เกินกว่าระดับที่คาดไว้

ถ้าอย่างนั้นจะเสี่ยงลงทุนไปทำไม แทนที่จะเก็บเงินเอาไว้ แต่ใครจะรู้ว่าความเสี่ยงอาจช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นก็ได้

หากคุณต้องการให้เงินลงทุนงอกเงย ลองหัดทำความคุ้นเคยกับความเสี่ยงดู แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่คุณได้รับจะอยู่ในระดับไหนนั้น ตัวคุณนั่นแหละที่เป็นคนกำหนด

สมมติว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในช่วงระยะสั้นๆ แล้วไปกระทบต่อมูลค่าของเงินที่คุณลงทุนไป ถึงอย่างนั้นคุณกลับไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก นั่นแปลว่าคุณน่าจะสามารถยอมรับความเสี่ยงได้อยู่บ้าง ในทางกลับกัน หากคุณรู้สึกกระวนกระวายใจเพียงแค่คิดว่า มูลค่าเงินลงทุนอาจจะลดลงแม้เพียงแค่หนึ่งวันแล้วล่ะก็ การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำอาจเหมาะกับคุณมากกว่า

หากคุณตั้งใจจะลงทุนในระยะยาว ก็ค่อนข้างยากที่จะกำจัดความเสี่ยงในขณะที่ยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่

ดังนั้น มีวิธีที่จะแปลงความเสี่ยงในการลงทุนให้เป็นประโยชน์กับคุณอยู่ 2 วิธี คือ

  1. โดยทั่วไปการลงทุนในหุ้นเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ในบางปี ดัชนีบางตัวในตลาด อย่าง S&P 500 มีอัตราที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่บางตัวกลับแย่ลง แต่เมื่อพิจารณาด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น กลับพบว่ามีช่วงเวลาที่ให้ผลเสียน้อยกว่าช่วงเวลาที่ให้ผลดี สำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้และยังคงเก็บเงินไว้ในตลาดหุ้นในระยะยาว มูลค่าการลงทุนของพวกเขามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น[1]
  2. เงินเฟ้อมีแต่จะยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นๆ เมื่อเวลาผ่านไป หากคุณต้องการให้การลงทุนของคุณสอดคล้องกับการค่าเงินที่เพิ่มขึ้น คุณอาจต้องทำใจยอมรับความเสี่ยงบ้าง

คุณควรหาสมดุลในการลงทุน หรือก็คือจุดที่คุณจะได้รับผลตอบแทนมากพอสำหรับการเกษียณอายุ และยังรู้สึกพึงพอใจกับความเสี่ยงที่คุณจะต้องเผชิญ ดังนั้น การทำความเข้าใจว่าความเสี่ยงทำงานอย่างไรและคุณรู้สึกอย่างไรกับมัน จะช่วยให้คุณค้นพบความสมดุลในการลงทุนได้

 

ความเสี่ยงที่คุณต้องเผชิญในฐานะนักลงทุน

ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

ยิ่งนานวันเข้าแนวโน้มราคามีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนมสด 1 แกลลอนจึงมีราคาแพงกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน หรือทำไมเงิน 1 ดอลลาร์ในอนาคตอาจไม่สามารถซื้อของได้มากเท่าที่ซื้อได้ ณ ปัจจุบัน หากไม่มีภาวะเงินเฟ้อ คุณก็สามารถเก็บเงินออมใส่โอ่งฝังดินไว้ได้จนกว่าคุณต้องการจะใช้เงินจริงๆ

ความเสี่ยงที่อายุจะยืนยาวเกินกว่าที่คาดไว้

คือ ความเสี่ยงของการที่คุณอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าเงินเก็บที่คุณสะสมมา คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีชีวิตอยู่ไปอีกนานแค่ไหน มันจึงยากที่จะคำนวณว่าต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอสำหรับการเกษียณ ความเสี่ยงชนิดนี้จึงเป็นสิ่งที่คุณต้องพิจารณาให้ดีเมื่อวางแผนเกษียณในระยะยาว

 

ความเสี่ยงทางตลาดที่คุณต้องเผชิญในฐานะนักลงทุน

ความเสี่ยงทางตลาด

ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยตลาดที่มีผลต่อการดำเนินการโดยรวมของตลาดการเงิน วันนี้หุ้นขึ้น แต่พรุ่งนี้อาจตกลงก็ได้ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ตลาดมีความเสี่ยง เพราะอาจส่งผลให้มูลค่าการลงทุนเสียหายได้

นักลงทุนควรทำความเข้าใจความต่างระหว่างความผันผวนของตลาด กับความเสี่ยงของตลาดเสียก่อน ความผันผวน ต้องพิจารณาว่าราคาที่เปลี่ยนไปนั้นสม่ำเสมอและเห็นผลมากแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป ในทางกลับกัน ความเสี่ยงของตลาด คือความน่าจะเป็นที่การเปลี่ยนแปลงราคานั้นจะส่งผลเสียอย่างถาวรและเป็นระยะเวลานาน

ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย

หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิด ตราสารหนี้อย่างพันธบัตรจึงค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงทีเดียว เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของพันธบัตรมักจะลดลง

ความเสี่ยงด้านเครดิต

หากบริษัทที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้ประสบปัญหาหรือวิกฤตทางการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาหรือเงินต้นคืนเต็มจำนวน

ความเสี่ยงที่กล่าวมานี้อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน แม้ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง แต่คุณก็สามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้

3 กลยุทธ์บริหารความเสี่ยง

ก่อนจะเริ่มบริหารความเสี่ยง คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ถึงระดับไหน นอกจากนี้คุณยังต้องพิจารณาอีกว่า คุณจะสามารถจัดการกับอารมณ์และพอร์ตการลงทุนของคุณได้ดีแค่ไหนเมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลง

รู้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก่อน

การรู้ระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้จะช่วยให้คุณรู้ว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภทไหน เช่น ลงทุนแบบระมัดระวัง (ไม่ค่อยชอบความเสี่ยง) หรือลงทุนแบบเชิงรุก (ยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า) การประเมินนี้จะช่วยให้คุณเลือกการลงทุนและสร้างพอร์ตการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่คุณพึงพอใจ ในขณะที่ยังคงดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

เมื่อคุณเดินทางมาจนใกล้จะบรรลุเป้าหมายในการลงทุนของคุณแล้ว คุณจะมีเวลาน้อยลงที่จะฟื้นตัวจากการที่ตลาดดิ่งลงในระยะสั้น การรักษามูลค่าของการลงทุนจึงมีความสำคัญมากกว่าการแสวงหาผลตอบแทน เมื่อเวลาผ่านไป คุณอาจจะต้องลงทุนแบบระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคุณมีเวลาน้อยลงในการลงทุนและกู้คืนจากภาวะตกต่ำ

อย่าซื้อแพงแล้วขายถูก

หนึ่งในกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การทำตามแผนที่วางไว้ การเลือกที่จะไปต่อก็เหมือนเป็นการให้เวลากับตัวเองในการเปลี่ยนแปลงช่วงที่มีความผันผวน เมื่อคุณลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น การเกษียณอายุ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะคุณจะรู้สึกยอมรับได้กับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ยิ่งลงทุนเร็ว คุณจะยิ่งมีระยะเวลาที่นานกว่าในการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจขาลงและช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดด้วย แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงหรือรับได้แค่ความเสี่ยงต่ำ การเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้คุณมีเวลามากพอที่จะลงทุนให้งอกเงยด้วยความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก

จงกระจายความเสี่ยง!

กลยุทธ์สุดท้ายในการบริหารความเสี่ยง ก็คือ ต้องกระจายการลงทุน การกระจายความเสี่ยงเป็นแนวคิดสำคัญที่ต้องจำในการสร้างพอร์ตการลงทุน คุณสามารถปรับสมดุลความผันผวนของตัวเลือกที่มีความเสี่ยงด้วยการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพียงกระจายเงินของคุณไปลงทุนในสิ่งที่ต่างกัน

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่อย่ากลัวจนเกินไป หากเข้าใจระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และกลยุทธ์ในการจัดการกับความเสี่ยงแล้ว คุณจะสามารถสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่จะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจได้

แนะนำหัวข้อที่น่าสนใจ
วางแผนลดหย่อนภาษี ปี 2566 กองทุน SSF RMF
Principal TH แอป | ลงทุนกองทุนรวมและจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ในแอปเดียว
 

1 อ้างอิงผลการคำนวณจนถึงปีพ.ศ. 2561 โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก Standard & Poor’s (S&P)

การลงทุนมีความเสี่ยง รวมถึงความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

การจัดสรรสินทรัพย์และการกระจายการลงทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลกำไรหรือป้องกันความสูญเสียใดๆ

การลงทุนในตราสารทุนมีความเสี่ยงมากกว่าหลักทรัพย์อื่นๆ และอาจมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหรือขาดทุนมากกว่า ความเสี่ยงหลักในการลงทุนตราสารหนี้มีอยู่ 2 ประการ คือ ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงด้านเครดิต โปรดทราบว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ราคาพันธบัตรที่ถืออยู่จะลดลงและอาจทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงด้วย การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมีผลอย่างยิ่งต่อพันธบัตรที่มีกำหนดครบอายุนานกว่า มากกว่าพันธบัตรที่มีกำหนดครบอายุสั้น

เนื้อหาที่นำเสนอในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และจัดทำขึ้นด้วยความเข้าใจที่ว่า บริษัท Principal® มิได้ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย การบัญชี หรือภาษีใดๆ ทั้งสิ้น ผู้อ่านควรปรึกษากับที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่เหมาะสม หรือที่ปรึกษาอื่นๆ ในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อผูกพันทางกฎหมาย ภาษีหรือข้อกำหนดทางบัญชี