ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราควรต้องรู้อะไรบ้าง?

ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราควรต้องรู้อะไรบ้าง?

บทความนี้เราจะมาพูดถึงประเด็นที่ว่า เมื่อเราคิดจะเริ่มลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราควรต้องรู้อะไรบ้าง โดยจะแบ่งสิ่งที่เราควรจะรู้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ “สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มลงทุน” และ “สิ่งที่ควรทำเมื่อเราลงทุนไปแล้ว”

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มลงทุน

 

1. เราควรหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไรดี?

โดยทั่วไปแล้วเราสามารถเลือกสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ในอัตราส่วนระหว่าง 2 - 15% ของค่าจ้าง ซึ่งแต่ละคนย่อมเลือกอัตราการสะสมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

• รายได้: หากเรามีรายได้สูง นั่นหมายถึงฐานภาษีที่เราต้องเสียภาษีต่อปีที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้นยิ่งเราเลือกสะสมเงินเข้ากองทุนฯ มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งประหยัดภาษีได้มากขึ้นเท่านั้น 

• ข้อบังคับกองทุน ว่านโยบายของนายจ้างในการจ่ายอัตราเงินสมทบ  & จำนวนเงินที่นายจ้างสมทบเข้ากองทุน: กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีส่วนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ โดยเงินสมทบนี้เปรียบเสมือนสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างช่วยออมไว้เพื่อให้เราใช้ในยามเกษียณ โดยนโยบายการจ่ายเงินสมทบของแต่ละนายจ้างจะแตกต่างกัน อาทิเช่น บางนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเท่ากับที่เราจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ซึ่งหากเราอยู่กับนายจ้างที่มีนโยบายจ่ายเงินสมทบแบบนี้ เรายิ่งควรสะสมเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากเงินสมทบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ควรศึกษาเงื่อนไขในการรับเงินของนายจ้าง เมื่อออกจากกองทุนในกรณีต่างๆ จากข้อบังคับกองทุนด้วย

2. เราควรเลือกแผนการลงทุนสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี?

อันที่จริงแล้วประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราต้องมาดูก่อนว่านายจ้างที่เราอยู่นั้นมีแผนการลงทุนแบบไหนให้เราเลือกบ้าง

• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบแผนการลงทุนเดียว นั่นหมายความว่าสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุก ๆ คนในบริษัทต้องลงทุนในแผนการลงทุนเดียวกันทุกราย ไม่มีตัวเลือกอื่น ๆ ให้เลือกลงทุน

• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Employee’s Choice โดยประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบนี้จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยตัวเลือกที่มีนั้นจะมีตั้งแต่นโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ (เน้นลงทุนในตราสารหนี้) ไปจนถึงนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง (เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น, ทองคำ, REITs) โดยคำแนะนำในการเลือกนโยบายการลงทุนคือ เลือกให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำ เมื่อกองทุนฯขาดทุนแล้วทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรเลือกนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

• กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Target Date โดยที่กองทุนประเภทนี้จะออกแบบนโยบายการลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุที่แตกต่างกันของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวคือวัยเริ่มทำงานจะมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าวัยใกล้เกษียณ เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ดีกว่า และ บลจ. จะลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนลงเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาที่สมาชิกต้องนำเงินออกจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งกองทุนฯ แบบ Target Date นี้มีข้อดีหลายด้าน อาทิเช่น สมาชิกมีความสะดวกสบาย เนื่องจากไม่ต้องคอยปรับสัดส่วนการลงทุนเอง เพราะผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามอายุของสมาชิกให้แล้ว, เหมาะกับสมาชิกทุกรูปแบบ ทั้งสมาชิกที่มีหรือไม่มีความรู้ด้านการลงทุน ก็สามารถลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Target Date ได้

3. ตั้งเป้าหมายและวางแผนเกษียณ

หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ได้เริ่มวางแผนสำหรับชีวิตในวัยเกษียณ แต่เราขอแนะนำให้คุณเริ่มวางแผนตั้งแต่นาทีนี้เลย เนื่องจากหากคุณวางแผนช้าเท่าไร ชีวิตในวัยเกษียณของคุณก็มีโอกาสไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน หากคุณวางแผนลงทุนสำหรับวัยหลังเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็มีโอกาสสูงที่ชีวิตในวัยเกษียณของคุณจะเป็นไปตามที่หวังไว้ ซึ่ง บลจ.พรินซิเพิล ก็มีตัวช่วยสำหรับการวางแผนเกษียณ ผ่านแอพพลิเคชั่น Principal PVD เพียงแค่เราใส่ข้อมูลส่วนตัวเลขลฃไป ระบบจะช่วย คำนวณจำนวนเงินที่คาดว่าเราจะมีในวันที่เราเกษียณอายุได้เลย โดยจะบอกเราว่าเราจะมีเงินใช้ต่อเดือนหลังเกษียณคิดเป็นกี่ % ของเงินเดือนๆ สุดท้ายอีกด้วย 

วางแผนเกษียณ

สิ่งที่ควรทำเมื่อเราลงทุนไปแล้ว

 

1. หมั่นเช็คพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

เมื่อเราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว เราสามารถที่จะเช็คพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว บลจ. ส่วนใหญ่จะส่งเอกสารสรุปรายละเอียดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งให้นักลงทุนทราบ โดยถ้าลงทุนกับ บลจ.พรินซิเพิล คุณสามารถเช็คพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน Principal PVD ได้อีกด้วย ซึ่งเราควรที่จะเช็คพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบ้าง เพื่อที่จะได้ทราบสถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้ประเมินได้ว่าเป้าหมายที่เราเคยวางไว้สำหรับเกษียณนั้น ยังเป็นไปตามเดิมอยู่

ทั้งนี้การเช็คพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเช็คถี่เกินไปนัก โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเช็คทุกวันหรือทุกสัปดาห์ เพราะอย่าลืมว่าเป้าหมายจริง ๆ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นคือเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว ดังนั้นหากเราเข้าไปเช็คกองทุนบ่อยจนเกินไปอาจทำให้เรา panic ได้ อีกทั้งหากเราลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Target Date ก็จะมีผู้จัดการกองทุนคอย rebalance port ให้เราอีกด้วย

2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละนายจ้าง บางนายจ้างอาจจะเปิดให้สมาชิกปรับเปลี่ยนนโยบายปีละสองครั้ง เช่น ทุกเดือน มิ.ย. และ ธ.ค. เป็นต้น) ซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้นและลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Target Risk ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เมื่อเราอายุยังน้อย เราอาจจะเลือกนโยบายกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เราควรปรับเปลี่ยนนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีความเสี่ยงต่ำลง เนื่องจากชีวิตในวัยหลังเกษียณของเราอาจจะขึ้นอยู่กับเงินก้อนนี้ ซึ่งหากยังลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายความเสี่ยงสูง อาจทำให้ขาดทุนและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณก็เป็นได้ แต่หากเราลงทุนอยู่ในกองทุนแบบ Target Date ก็ไม่ต้องกังวลกับการปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุน monitor และ rebalance port ให้ เพื่อให้ความเสี่ยงของกองทุนที่ลงทุนอยู่เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิกด้วย

3. สามารถใช้สิทธิ์คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้

ในกรณีที่เราลาออกจากงาน เรายังสามารถเลือกได้ว่าจะเอาเงินออกจากกองทุน, โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังนายจ้างใหม่, โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้า RMF หรือเลือกที่จะคงไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับนายจ้างเดิมได้ เพียงแต่จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเดิม นอกจากนี้หากเราเกษียณอายุ เราสามารถเลือกคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปได้เช่นกัน ซึ่งประโยชน์ของการคงเงินไว้ในกองทุนคือ กองทุนก็จะยังคงลงทุนต่อไปแบบไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะรับผลต่อแทนต่อเนื่องไปอีก อีกทั้งยังสามารถขอให้กองทุนทยอยจ่ายเงินให้เราเป็นงวด ๆ  เปรียบเสมือนกับเงินบำนาญได้อีกด้วย 

ทั้งหมดนี้คือ “สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มลงทุน” และ “สิ่งที่ควรทำเมื่อเราลงทุนไปแล้ว” โดยสามารถศึกษาข้อมูลแผนการลงทุนแบบ Target Date และ Target Risk เพิ่มเติมได้ที่ https://www.principal.th/th/provident-fund ซึ่งการเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเราย่อมมีโอกาสทำให้เรามีมีเงินออมที่เพียงพอต่อชีวิตวัยเกษียณ นอกจากนี้สำหรับบริษัทที่อยากจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทะเบียนไว้ได้ที่ https://bit.ly/3xSfslL

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน