ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะเก็บเงิน

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมจะเก็บเงิน

ย้อนกลับไปในปี 2537 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเรามีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพียง 6.8% ของคนไทยทั้งประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2560 สัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 16.7% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ จำนวนแรงงานลดลง คุณภาพชีวิตลดลง และผู้สูงอายุไม่มีเงินดำรงชีพอย่างเพียงพอ ซึ่งเรื่องที่น่ากลัวที่สุด คือ “แก่ไป... ไม่มีเงิน...” ทำให้ในปัจจุบันสังคมไทยเริ่มตระหนักถึงการวางแผนเพื่อการเกษียณอย่างจริงจังมากขึ้น

“กว่า 40% ของคนไทยไม่ได้เตรียมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ” 

หนึ่งในประเด็นที่สำคัญของผู้สูงอายุคือ “เงินเก็บ” ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยเกษียณมักเป็นคนในรุ่น Baby Boomer หรือเกิดช่วงปี 2489 – 2507 ซึ่งคนในกลุ่มนี้มักถูกสอนให้ทำงาน หาเงิน สร้างทรัพย์สิน เป็นหลัก แต่อาจไม่พบเรื่องวางแผนเพื่อการเกษียณกันสักเท่าไรนัก

คนในรุ่นนี้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจหรือมีหน้าที่การงานดี ประกอบกับการเก็บออมทำให้มีทรัพย์สินจำนวนมาก อาจไม่จำเป็นต้องวางแผนเรื่องการเกษียณ แต่บางส่วนของคนกลุ่มนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ 26% ของผู้สูงอายุยังคงมีหนี้สินอยู่ 

“จากรุ่นสู่รุ่น บอกให้คุณเก็บเงิน”

ปัญหาของรุ่นใหญ่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม... ทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยการเตรียมตัว สิ่งแรกที่ควรรู้คือในวันที่เราอายุ 60 และกำลังเข้าใกล้วัยเกษียณต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอ? ซึ่งความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จึงควรต้องกลับมาถามตัวคุณเองว่าอยากใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงวัยเกษียณ

ในช่วงวัยเกษียณ รายจ่ายบางชนิดอาจลดลง เช่นค่าภาษีสังคม ค่าเดินทาง แต่ในทางกลับกันรายจ่ายบางชนิดอาจเพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ผู้ที่เข้าใกล้วัยเกษียณมักคิดถึง lifestyle ที่อยากใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินใช้ต่อเดือนเปลี่ยนแปลงไปตาม lifestyle ของแต่ละบุคคล เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นสมมติว่าเราแบ่งรูปแบบการใช้ชีวิตหลังการเกษียณเป็น 3 กลุ่มและกำหนดเงินใช้ต่อเดือนให้กับแต่ละกลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 :    เข้าวัด

เกษียณแล้วเข้าวัดอาจเป็นเป้าหมายของหลายคน เพื่อหลบจากโลกที่วุ่นวาย คนกลุ่มนี้มักไม่ต้องใช้เงินเยอะ เข้าวัดทำบุญกินอยู่ตามสมควร อาจต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 25,000 บาท

กลุ่มที่ 2 :    ท่องเที่ยว

หลายคนทำงานหนักเพื่อหารายได้จนไม่ได้ใช้ชีวิต เกษียณทั้งทีขอไปท่องเที่ยวบ้าง การท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบทั้งในและนอกประเทศ หากเที่ยวเดือนละ 1 ครั้งอาจใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท

กลุ่มที่ 3 :    หรูหรา

เกษียณทั้งทีขอใช้ชีวิตเต็มที่ อยากกินต้องได้กิน อยากเที่ยวต้องได้เที่ยว คนกลุ่มนี้อาจต้องใช้เงินต่อเดือนมากกว่า 2 กลุ่มแรก ซึ่งอาจสูงถึงเดือนละ 100,000 บาท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต

การแบ่งกลุ่มคนเกษียณแบบกว้าง ๆ ทำให้เห็นภาพจำนวนเงินที่ต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เงินที่ใช้ต่อเดือนเป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ข้าวของแพงขึ้น และตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น จากปัญหาของเงินเฟ้อที่หลายคนอาจมองข้ามไป

“เงินเท่าไร ที่เก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ”

จากรูปแบบการใช้ชีวิตเราอาจพอรู้แล้วว่าเราต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ “เสียชีวิตเมื่อไร?” ยิ่งอายุยืนยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะ จากการสำรวจล่าสุดสำหรับอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 77 ปี (Ref4) แน่นอนว่าผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าผู้ชาย และเรามีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น ข้อมูลนี้เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย อายุที่ยืนขึ้นแสดงว่าเราต้องมีเงินเก็บมากขึ้น

คำถามต่อไปคือ “หลังเกษียณต้องใช่เงินเท่าไร?” คำตอบคือ 9 ล้าน 18 ล้าน และ 36 ล้าน สำหรับคนแต่ละกลุ่ม หลายคนอาจคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากและเป็นไปไม่ได้ การเดินทางให้ถึงเป้าหมาย สำคัญที่การเริ่มต้นมีวินัยในการออม และวางแผนอย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นว่าวันนี้ต้องมีเงินก้อนหรือมีรายได้สูงๆเสมอไป

Key visual


“เก็บให้พอ อย่ารอให้ถึง”

หายังไง... คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายคน หากแบ่งช่วงชีวิตตามรายได้จะสามารถแบ่งออกได้ 2 ช่วงคือ

ชีวิตในช่วง Saving – ในวันที่เราอายุ 22 จบจากรั้วมหาวิทยาลัยและเข้าสู่วัยแรงงาน จนถึงวันที่เราเกษียณเรียกว่าชีวิตในช่วง Saving ซึ่งเป็นช่วงที่เรามีรายได้และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุงานที่มากขึ้น ในช่วงนี้เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน เพื่อสร้างฐานะ

ชีวิตในช่วง Spending – หลังจากงานเลี้ยงส่งพนักงานเกษียณหรืองานแซยิดก็ตาม รายได้ในรูปแบบเงินเดือนของเราอาจหยุดลงทันที และเต็มไปด้วยรายจ่ายเพื่อใช้ในการครองชีพ รายได้อื่น ๆ หลังเกษียณอาจมาจากสวัสดิการภาครัฐ จากลูกหลาน แต่ส่วนที่เป็นรายได้หลักคือ เงินเก็บจากการทำงานในชีวิตช่วง Saving นั่นเอง

ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงานอาจมีรายได้ไม่มากนัก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ หากแต่เน้นไปที่การสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างทรัพย์สินให้เพิ่มขึ้น หลังจากทำงานมาสักระยะ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีทรัพย์สินพอควร สิ่งที่ควรเริ่มลงมือทำคือมองตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้าและเริ่มวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับวัยเกษียณ


“2 ตัวช่วย ให้คุณรวยในวัยเกษียณ”
 

ในต่างประเทศประชาชนมักมีการเก็บเงินในบัญชีพิเศษที่เรียกว่า Retirement Account หรือพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ ซึ่งมักมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวสำหรับบริหารพอร์ตลงทุนในส่วนนี้ หลักการที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในระยะแรก และค่อย ๆ ลดความเสี่ยงลงเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ

ตัวช่วยที่ 1 : “เงินเก็บ” การเก็บเงินหลักล้านบาทไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนคงรู้จัก DCA หรือ Dollar Cost Average ซึ่งก็คือการเก็บเงินอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อสร้างเงินก้อน สิ่งสำคัญที่หลายคนมักลืมไปคือ ควรเก็บเพิ่ม เมื่อรายได้เพิ่ม จำนวนเงินที่เก็บออมอาจไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอ หากแต่ควรเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป การปรับเงินเก็บเพิ่มอย่างสม่ำเสมอเป็นตัวช่วยแรกที่สามารถช่วยทำให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น

ตัวช่วยที่ 2 : “ที่เก็บเงิน” ย้อนกลับไปในอดีต ในวันที่ดอกเบี้ยสูง ในหนึ่งปี เงินฝาก 1 ล้านบาทอาจได้รับดอกเบี้ยถึง 1 แสนบาทในช่วงดอกเบี้ย 10% แต่ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ที่ประมาณ 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาทเท่านั้น “ที่เก็บเงิน” จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากฝากธนาคารเป็นการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ยิ่งสร้างผลตอบแทนได้มาก ก็จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีก

 

retire02


 

“ผลตอบแทน กับแผนการลงทุน”
 

ในปัจจุบัน ที่เก็บเงิน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเนื่องจากเงินฝากให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนจึงมองหาการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น
ในทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำความเสี่ยงต่ำ สิ่งสำคัญคือควรหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับตัวของคุณ การลงทุนที่มีความเสี่ยงมากเกินไปอาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลอยู่เสมอ อาจเครียดเมื่อขาดทุนหรือเลี้ยงฉลองเมื่อกำไรเล็กน้อย อันนี้เป็นการลงทุนที่ไม่ถูกต้อง หากเราเข้าใจว่าลงทุนอะไรอยู่และแต่ละการลงทุนมีความเสี่ยงอย่างไร เราคาดหวังอะไรจากการลงทุนนี้ จะทำให้ลดความกังวลลงได้

นักลงทุนในประเทศไทยหันมาจัดพอร์ตการลงทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นพอร์ตการลงทุนระยะยาวเช่น พอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณ เป้าหมายหลักของการจัดพอร์ตการลงทุนคือเพื่อความสม่ำเสมอของผลตอบแทน สามารถทำได้โดยกระจายความเสี่ยงไปในหลากหลายสินทรัพย์
ในการจัดพอร์ตสินทรัพย์ที่คัดเลือกลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ นักลงทุนในประเทศไทยมักนิยมใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการจัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับการจัดพอร์ตการลงทุนทั่วโลก กองทุนรวมได้รับความนิยมเนื่องจากสามารถกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศได้ง่ายเมื่อมีโอกาส มีผู้จัดการกองทุนคอยช่วยดูแลเงินลงทุนอีกชั้นหนึ่ง ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงมีค่าธรรมเนียมต่ำอีกด้วย

สุดท้ายนี้ การจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณอาจเป็นเรื่องใหม่ของใครหลายคน บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าเริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วคุณยังไม่พร้อมอาจทำให้การเงินหลังเกษียณมีปัญหาได้ อ่านมาถึงตรงนี้ อยากให้ลองสำรวจตัวเอง ลองถามตัวเองว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณ?” ถ้ายังไม่เคยออมเงินเพื่อการเกษียณเลยและเหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 ปี พรุ่งนี้เป็นวันดีที่จะเริ่มต้น

 

Reference
Ref1: https://gnews.apps.go.th/news?news=22878
Ref2: https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/2AgingPopulation_GlobalPerspectives.pdf
Ref3: https://en.wikipedia.org/wiki/Baby_boomers
Ref4 : http://www.fap.or.th/upload/9414/VR9pMweHc9.pdf