ภาพรวมการลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2566
หมายเหตุ* : เป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงของยีลด์ ไม่ใช่ผลตอบแทน
Source: Bloomberg as of 31 พฤษภาคม 2566
ภาพรวมการลงทุนในเดือนพฤษภาคม 2566
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย แม้ว่ามีปัญหาเรื่องเพดานหนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดทั้งเดือน และสุดท้ายสหรัฐฯ ก็สามารถผ่านพ้นปัญหานี้ได้สำเร็จ ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง หลังภาคการผลิตยังอ่อนแอ และ ECB ยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนโดนกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวดีขึ้นจากธนาคารกลางตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจอีก 0.5% รวมถึงการบริโภคในประเทศยังแข็งแกร่งสะท้อนจากตัวเลขยอดค้าปลีกที่เติบโตดีต่อเนื่อง ในส่วนของกองทุนอสังหาฯ REITs โลกและสิงคโปร์ ปรับตัวลงค่อนข้างแรงจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 2 ปี ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยหลังรัฐสภาสหรัฐฯ สามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ: ดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.25% ในเดือน พ.ค. 2566 แม้ว่าปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ระหว่างพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันได้สร้างความกังวลให้ตลาดตลอดทั้งเดือน อย่างไรก็ตามข้อตกลงที่จะทำให้สหรัฐฯ สามารถขยายเพดานหนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียง 314 ต่อ 117 และถูกลงนามโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน เรียบร้อยก่อนวันที่ 5 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตาย ในส่วนของตัวเลขภาคเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (services PMI) ของสหรัฐในเดือน พ.ค. 2566 ปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.1 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 52.6 แต่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (manufacturing PMI) อยู่ที่ 48.5 ส่งสัญญาณถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสหรัฐปรับขึ้น 4.9% YoY ในเดือน เม.ย. 2566 ลดลงเล็กน้อยจากเดือน มี.ค. 2566 ที่ 5% ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ปรับขึ้น 5.5% YoY เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยซึ่งยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีตั้งแต่ต้นปีจากการที่ถูกหนุนด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1/2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ดังนั้นผลประกอบการในไตรมาส 2/2566 และระดับของเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยหลักต่อการกำหนดผลตอบแทนของตลาดในอนาคต
ตลาดหุ้นยุโรป: ดัชนี STOXX Europe 600 ปรับลดลง -3.19% ในเดือน พ.ค. 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจด้านภาคการผลิตของยุโรปยังคงอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซน (manufacturing PMI) ในเดือน เม.ย. 2566 อยู่ที่ 44.6 ส่งสัญญาณการอ่อนแอของภาคการผลิตในอนาคต ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (services PMI) ยังคงอยู่เหนือระดับ 55 บ่งบอกถึงการขยายตัวของภาคบริการ ในด้านของเงินเฟ้อในยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นที่ 7.0% YoY ในเดือน เม.ย. 2566 สอดคล้องกับที่ตลาดคาด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปรับขึ้นของราคาอาหารที่ 13.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้น 5.6% YoY สอดคล้องกับที่ตลาดคาดเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ECB ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่ชะลอตัวลง เพื่อที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น
ตลาดหุ้นจีน: ตลาดหุ้นจีนทั้ง H-Shares และ A-Shares ปรับตัวลง -8% และ -5.7% ในเดือน พ.ค. 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ สะท้อนในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคบริการในเดือน พ.ค. 2566 ที่ต่ำกว่าคาดที่ 48.8 และ 54.5 จุด ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2566 ที่พลิกกลับมาเป็นติดลบ 0.1% MoM อาจบ่งบอกภาวะเงินฝืด เช่นเดียวกันกับยอดการขอเงินกู้ใหม่ที่ 718.8 พันล้านหยวน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอย่างมาก แสดงถึงความมั่นใจของภาคเอกชนที่ลดลง และปัญหาสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่คลี่คลายเต็มที่ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง มองไปข้างหน้าคาดว่าทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องและเพิ่มการบริโภคของประชาชน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ในระยะถัดไป
ตลาดหุ้นไทย: ดัชนี SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 0.29% ในเดือน พ.ค. 2566 โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,569 จุด ก่อนวันเลือกตั้งไทย และหลังจากนั้นปรับตัวลงแรง จากความกังวลต่อความยากลำบากในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนโยบายของพรรคแกนนำที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดทุน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจ ภาคการส่งออกในเดือน เม.ย. 2566 ที่ประกาศออกมาหดตัว
-7.6% YoY ตํ่ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -2% ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงและปิดที่ 1,533 จุด ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 8% ถือว่า Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า มองว่ายังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ขณะที่ forward P/E ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย จึงเป็นจุดที่น่าสนใจลงทุนสำหรับผู้ลงทุนระยะกลางถึงยาว
ตลาดหุ้นเวียดนาม: ตลาดหุ้นเวียดนาม VN Index ปรับตัวขึ้น 2.48% ในเดือน พ.ค. 2566 แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสการขาดแคลนไฟฟ้า แต่ผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 2.43% YoY ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% YoY ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.5% อยู่ที่ระดับ 5% ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 0.1% YoY ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ รวมถึงยอดค้าปลีกที่ขยายตัว 11.5% YoY เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามการขยายตัวเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของเวียดนาม หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 45.3 จุด อยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
ตราสารหนี้: อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ในปลายเดือน เม.ย. 2566 มาอยู่ที่ประมาณ 3.6% ปลายเดือน พ.ค. 2566 จาก Fed ที่ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นที่ 2.55% จากเหตุผลเดียวกันในเรื่องของ Fed และธนาคารแห่งประเทศไทย (BoT) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะเพิ่มขึ้นแค่ 2.67% ในเดือน เม.ย. 2566 แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ตราสารทางเลือก
REITs: REITs ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.26% ในเดือน พ.ค. 2566 ได้แรงหนุนจากความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราเงินปันผลที่สูง เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาพลังงาน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มากนักหลังจากนี้ ขณะที่ REITs สิงคโปร์ และ REITs โลก ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง -3.94% และ -3.76% ตามลำดับในเดือน พ.ค. 2566 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.1% เป็น 4.4% ในเดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ทั้ง 2 เพื่อรอความชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed
ทองคำ: ราคาทองคำปรับตัวลดลง -1.37% ในเดือน พ.ค. 2566 โดยได้รับแรงกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งอายุ 2 ปี และ 10 ปี กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่รัฐสภาสหรัฐฯ สามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ได้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลและลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง
มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน 3-6 เดือนข้างหน้า
- แม้ว่าหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ(อ้างอิงดัชนี Nasdaq) ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ดีในเดือน พ.ค. 2566 อย่างไรก็ตามจากการประชุม Fed ในเดือน มิ.ย. 2566 Fed ตัดสินใจ หยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังปรับขึ้น 10 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และในรายงาน Dot plot ล่าสุดบ่งชี้ โดยรวม Fed มีท่าที Hawkish มากขึ้นเมื่อเทียบกับ Dot plot ในเดือน มี.ค. 2566 กล่าวคือ Fed ยังมีโอกาสปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งอาจเริ่มในการประชุมครั้งหน้าเดือนก.ค. ขณะที่ ECB ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% สู่ระดับ 3.5% ตามคาดการณ์ พร้อมส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในครั้งถัดไป
- จากท่าที่ของ Fed ที่มีความ Hawkish มากขึ้น, สภาพคล่องที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด, ความเสี่ยงที่จะมีการปรับประมาณการกำไรของหุ้นสหรัฐฯ ลงหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นค่อนข้างสูงในปีนี้ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ บลจ.พรินซินเพิล ยังมีมุมมอง Slightly Underweight สำหรับหุ้นต่างประเทศ อย่างไรก็เรายังชอบหุ้นฝั่งจีน และเอเชีย หลังธนาคารจีน (PBOC) ประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้ธุรกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านดอกเบี้ยประเภท Reverse Repurchase Rate ระยะ 7 วัน และดอกเบี้ยระยะกลาง (MLF) อีกทั้งรัฐบาลจีนเผยเตรียมพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้เรายังชอบการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม จากการเติบโตของ GDP ที่อยู่ในระดับสูง มูลค่าที่ไม่แพง และทางการเวียดนามใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
- เราคงน้ำหนักตราสารหนี้ Slightly Overweight โดยชอบการลงทุนในตราสารหนี้โลกเป็นหลัก เนื่องจากยีลด์ (YTM) ปัจจุบันอยู่ในระดับน่าสนใจ และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐจะช่วยให้ตราสารหนี้โลกปรับตัวดีขึ้น โดยล่าสุดกองทุน PIMCO GIS Income Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ PRINCIPAL GFIXED มีระดับของยีลด์ (YTM) ที่ค่อนข้างสูงซึ่งอยู่ที่ 7.12% ณ วันที่ 31 พ.ค. 2023
- บลจ. พรินซิเพิลยังคงแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น Quality Growth (สินทรัพย์ที่มีการเติบโตในระดับปานกลางแต่มีความมั่นคงของธุรกิจและรายได้) เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปีตลาดน่าจะมีความไม่แน่นอนและผันผวน จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น และเน้นย้ำนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับ Asset allocation เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม โดยกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์และหลายประเทศ ตามความเสี่ยงที่รับได้
กองทุนแนะนำ
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อิควิตี้ ESG (PRINCIPAL GESG) ลงทุนผ่านกองทุน Schroder International Selection Fund Global Sustainable Growth ที่เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในมุมกว้างมีธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (หรือที่เรียกว่า ESG) เพื่อการเติบโตของบริษัทและกำไรอย่างยั่งยืนในอนาคต
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล ไชน่า อิควิตี้ (PRINCIPAL CHEQ) มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศจีนหรือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ที่มีการเติบโตในระยะยาว และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน สำหรับในระยะสั้นการกลับมาเปิดประเทศและจับจ่ายใช้สอยของประชากรในเมืองใหญ่ๆ ในจีนจะส่งผลบวกโดยตรงต่อกองทุน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่กองทุนลงทุนจะมีน้ำหนักส่วนใหญ่ทั้งในกลุ่ม Consumer Discretionary, Industrials และ Communication Services
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล ไชน่า เทคโนโลยี (PRINCIPAL CHTECH) เน้นลงทุนบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ 14) ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตสอดคล้องกับนโยบายของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาต่างชาติน้อยลง ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และตั้งเป้าเป็นผู้นำโลกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยกองทุนจะแบ่งน้ำหนักการลงทุนในสัดส่วน 65:35 โดยประมาณในธีม Soft Tech (eCommerce, Cloud, Internet):Hard Tech (New-generation information technology, Biomedicine, New energy)
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอเชีย แปซิฟิก ไดนามิก อินคัม อิควิตี้ (PRINCIPAL APDI) ลงทุนผ่าน Master Fund ชื่อ Principal Asia Pacific Dynamic Income Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นคุณภาพขนาดใหญ่กระจายตัวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มุ่งเน้นบริษัทที่มีทิศทางการเติบโตตาม Megatrend ของโลก โดยกองทุนจะมีสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และจีนในฮ่องกง รวมกันประมาณ 40% ที่เหลือกระจายลงทุนในเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลีย
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ) มุ่งเน้นลงทุนตรงในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตล้อตามกับเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-Up โดยมีการทำบทวิเคราะห์ภายใน และทำการเยี่ยมชมบริษัทที่ลงทุนอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อภาพตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาว ปัจจุบันมี Valuation ในระดับที่น่าสนใจ เทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ
- กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม (PRINCIPAL GFIXED) ลงทุนผ่าน Master Fund ชื่อ PIMCO GIS Income ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ และมีการกระจายการลงทุนไปในหลายธุรกิจและหลายประเทศทั่วโลก โดยมีนโยบายการลงทุนแบบ Active และมีระยะเวลาครบกําหนดของตราสารที่แตกต่างกัน ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2566 พอร์ตกองทุนมีอันดับความน่าเชื่อถือเฉลี่ย (average credit rating) อยู่ที่ระดับ A+ และ YTM ที่ 7.12% และ Duration ประมาณ 3.13 ปี
ผู้จัดทำ
คุณศุภกร ตุลยธัญ, CFA – Chief Investment officer
คุณธเนศ เลิศเพชรพันธ์ – Investment Strategist
คุณมินตรา จันทวิชชประภา – Investment Strategist
อ่าน Report ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ที่นี่
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และ ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน / PRINCIPAL GESG ลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL GESG มิได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการและการจัดทำรายงานของกองทุนรวมเช่นเดียวกับ SRI Fund / PRINCIPAL CHEQ กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวใน emerging markets ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย/ PRINCIPAL CHTECH กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในประเทศจีน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL APDI กองทุนหลักลงทุนกระจุกตัวในฮ่องกง ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย / PRINCIPAL VNEQ ลงทุนกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย/ บริษัทจัดการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน (Hedging) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน / ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต